สมพิศ ฟูสกุล

สมพิศ ฟูสกุล

Sompis Fusakul

รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

ประวัติศิลปิน

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่างๆ ที่เคยแยกกันอยู่เสมือนถนนคู่ขนาน ได้ถูกบรรจบไว้ด้วยความคิดและการลงมือทำของ สมพิศ ฟูสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้มีผลงานออกแบบที่โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลต่างๆ มาแล้วมากมาย อาทิ รางวัล The Norman Bel Geddes Graduate Award ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รางวัล Award of Excellence ประเทศเกาหลีใต้ ในปี พ.ศ. 2542 รางวัลข้าราชการดีเด่นในปี พ.ศ. 2546 และรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ในปี พ.ศ. 2551 สมพิศ ฟูสกุล นักออกแบบสาวชาวเชียงราย ผู้สนใจในความแตกต่างของสิ่งสองสิ่งที่ดูจะขัดแย้งกันในโลกความจริง ทั้งความฝัน นิทานปรัมปรา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ นั่นคือความสนใจของเธอที่ไม่น้อยไปกว่าการตื่นตัวเมื่อพบกับเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกหลอมรวมอยู่ในตัวตนและงานออกแบบของสมพิศเมื่อเธอเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้รับทุนจากรัฐบาลไทยให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่ Rhode Island School of Design ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสมพิศก็ทำผลการเรียนได้ดีเยี่ยมจนได้รับเกียรตินิยมจากผลงานวิจัยที่นำการออกแบบข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาไปสู่วิทยาศาสตร์ ดังเช่นผลงานที่สะท้อนมิติของความฝันซึ่งน้อยคนจะทราบว่ามนุษย์สามารถควบคุมความฝันของตัวเองได้โดยสภาวะดังกล่าวนั้นเรียกว่า “Lucid Dreaming” คือการรู้ตัวในขณะกำลังฝันจนสามารถควบคุมเหตุการณ์ในความฝันนั้นได้ สมพิศได้นำความสนใจดังกล่าวมาต่อยอดสู่ผลงานวิจัยในช่วงปริญญาเอก ณ Royal College of Art ประเทศอังกฤษด้วยทุนรัฐบาลไทยผลงานวิจัยในช่วงปริญญาเอกที่ถือได้ว่ามีความโดดเด่นจนทำให้สมพิศเป็นที่รู้จัก และจดจำด้วยเธอได้ออกแบบเครื่องประดับที่ถือได้ว่า แปลก แหวกแนว จากการนำจังหวะการเต้นของหัวใจมนุษย์ที่มักจะเต้นเร็วหรือแผ่วเบาตามสภาวะของจิตใจสู่เครื่องประดับชนิดต่างๆ เช่น Vein เครื่องประดับลักษณะคล้ายสร้อยคอที่มีเส้นสายยาวกว่า 10 เส้น ทำจากใยแก้วนำแสงชนิดพิเศษที่เรียกว่า Side Glowซึ่งสามารถเปลี่ยนสี – แสง ตามจังหวะการเต้นของหัวใจผู้สวมใส่ หากหัวใจที่เต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ใยแก้วนำแสงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แต่หากเปลี่ยนเป็นสีแดง นั่นแปลว่าจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับสูงกว่า 110 ครั้งต่อนาที ส่วนแสง – สี ที่ผสมกันแสดงการเต้นของจังหวะหัวใจที่ปกติ Vein ยังถูกเติมแต่งสร้างความงามด้วยการประดับดอกไม้ที่ประกอบขึ้นจากหลอดไฟ LED ขนาดเล็กและชิ้นส่วนประดับจากแผ่นทองแดงผิวทรายชุบทองสี โดยปลายสุดของเครื่องประดับจะตกแต่งด้วยคริสตัลทำให้ผลงานชิ้นนี้สร้างความโดดเด่นอย่างมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่อับแสงคล้ายคลึงกับ Aliform เครื่องประดับที่มีรูปทรงรีคล้ายใบไม้จำนวน 9 ชิ้นถูกเชื่อมต่อเข้ากับท่อโลหะสีทองดัดโค้งรอบลำคอที่ซ่อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใน การออกแบบ Aliform ดูจะนำลักษณะการแย้มบานของดอกไม้มาใช้กับโลหะจำรูป หรือ “Shape Memory Alloy” ที่ติดตั้งอยู่ภายในรูปทรงรีคล้ายใบไม้ดังกล่าว ซึ่งการเคลื่อนตัวของโลหะจำรูป จะขับเคลื่อนโครงสร้างคล้ายใบไม้นี้ให้ขยับหรือขยายตัวออกในจังหวะที่เร็วช้าต่างกันตามการเต้นของหัวใจผู้สวมใส่ เช่นเดียวกับ “Anemone” เครื่องประดับคอที่มีเส้นโครงสร้างเป็นสายยาวและถูกล้อมรอบด้วยเม็ดแก้วหลากหลายขนาด โดยประดับด้วยดอกไม้ที่สร้างจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ผิวทรายชุบทองสีและใส่หลอดไฟ LED ที่จะกระพริบทีละ 3 ดอก ตามจังหวะการเต้นของหัวใจผู้สวมใส่ โดยเส้นสายที่ยาวออกมานั้นสามารถนำมาพันแขน เอว หรือรอบตัว ตามแต่ความชอบ งานออกแบบเครื่องประดับของสมพิศจึง มิได้ เฉพาะเจาะจงว่า จะใช้ ประโยชน์ได้เพียงด้านเดียวเสมอไป เช่น เครื่องประดับคอ ก็อาจเป็นได้ทั้งสร้อยคอหรือเครื่องประดับชุดแต่งกายที่สร้างความเด่นให้แก่ผู้สวมใส่

หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก สมพิศกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำให้งานสอนและงานวิจัยนั้นแทบจะกินเวลาทำงานสร้างสรรค์ของเธอหมด สมพิศจึงใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างน้อยนิดทุ่มเทให้กับงานออกแบบที่เธอทำร่วมกับโครงการต่างๆ ที่ถูกเชื้อเชิญ เช่น นิทรรศการ“TIDA HOUSE 2012: 10 Living Space of the Year 2012” จัดในงานสถาปนิก’55 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งให้นักออกแบบทั้ง 10 ท่านในการสร้างสรรค์ผลงานภายใต้ประเด็น “น้ำ” ซึ่งสมพิศได้ตีความประเด็นดังกล่าวออกมาเป็นผลงานประติมากรรมและเครื่องประดับ โดยใช้ชื่อว่า “Dew” และ “Mist”ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากโมเลกุลน้ำที่รวมตัวกันเป็นละอองหมอกก่อนจะจับตัวกันเป็นน้ำค้าง โดยสมพิศได้ทดลองนำวัสดุที่เคยถูกละเลยหรือไม่มีมูลค่าสูงมาใช้ในผลงานออกแบบของเธอ ดังเช่นสร้อยประดับคอและมือ ซึ่งสมพิศได้นำ ลวดสแตนเลสและลวดทองแดงย้อมสีมาดัดเป็นเส้นวงกลมคล้ายลวดสปริงขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2-3 มิลลิเมตร ก่อนจะนำลวดสแตนเลสและลวดทองแดงแต่ละเส้นมาประกอบเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงามไม่ซ้ำใครประสบการณ์ทำงานในด้านต่างๆ ของสมพิศยังถูกถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ในแต่ละรุ่นของเธอได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดในผลงานสร้างสรรค์ต่อไป ทั้งนี้สมพิศยังคงทำงานวิจัยและบรรยายเผยแพร่ความรู้ยังสถาบันหรือองค์กรต่างๆ เรื่อยมา อาทิ งานวิจัยและพัฒนาหลักสูตร “Design Management”หรือ “การบริหารงานออกแบบ” ในปี พ.ศ. 2547–2549 งานวิจัยการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน “Product-Service System Design for Sustainability”หรือ “ระบบการออกแบบผลิตภัณฑ์ผสานบริการเพื่อความยั่งยืน” ในปี พ.ศ. 2550-2553 ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นทุนวิจัยที่เธอได้รับจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ภายใต้ชื่อทุน “Asia Link” และในปี พ.ศ. 2556 สมพิศยังได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยพัฒนาการออกแบบบริการเพื่อรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย โดยความร่วมมือของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และบริษัทออกแบบบริการชั้นนำของโลกที่ชื่อ Live Work ทำให้เกิดหนังสือ “Service Principle: Thailand High Speed Train” หรือ“หลักการสำคัญของงานบริการเพื่อรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย” ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นหลักในการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในทุกขั้นตอนโดยสมพิศยังได้รับความไว้วางใจให้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เธอถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินศิลปาธรที่มุ่งทำงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความงดงาม และยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031