เอกรัตน์ วงษ์จริต

เอกรัตน์

วงษ์จริต

Eggarat Wongcharit

รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

ประวัติศิลปิน

ปัจจุบันความสวยงามของผลิตภัณฑ์ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผู้บริโภคคำนึงถึงอีกต่อไป ความแตกต่างและแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้คนเลือกที่จะบริโภค การสร้างมูลค่าของสินค้าจากความคิดกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้งานออกแบบแต่ละชิ้นนั้นออกมาแตกต่างกัน และหนึ่งในแนวทางที่ดีไซเนอร์ไทยหลายคนเลือกใช้คือการหวนคืนสู่ความเป็นไทยและดึงเอาจุดเด่นในรายละเอียดต่างๆ ของงานช่างมาใช้จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจในการสร้างตัวตนให้เกิดขึ้นแก่ผลงานของแต่ละคน เอกรัตน์ วงษ์จริต นักออกแบบชั้นแนวหน้า ผู้มีความสามารถในการแปลแนวคิดที่เป็นนามธรรมให้เกิดเป็นรูปร่างรูปทรงที่ทันสมัย พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยี ผนวกเข้ากับงานหัตถกรรมพื้นบ้านแบบไทย สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นสากล เอกรัตน์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันแพรตต์ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (Pratt Institute, New York, USA)ในสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ด้วยความชื่นชอบ สนใจอยากที่จะทำงานกับพื้นผิว วัสดุ และงานในลักษณะสามมิติมากกว่า ทำให้เอกรัตน์เลือกที่จะศึกษาต่อปริญญาโทอีกใบในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม ที่สถาบันโดมุส เมืองมิลานประเทศอิตาลี (Domus Academy, Milan, Italy) การเปิดโลกทัศน์ครั้งนี้เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาสู่การเป็นดีไซเนอร์และได้เริ่มต้นอาชีพการเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เอกรัตน์มีโอกาสร่วมงานกับ เปาโล นาวา (Paolo Nava) สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของอิตาลีประมาณ 2 ปีหลังเรียนจบ ก่อนที่จะแยกออกมาเป็นนักออกแบบอิสระอยู่ 3 ปี แล้วจึงเดินทางกลับมาเปิดบริษัทของตัวเองในประเทศไทยระยะเวลากว่า 6 ปีที่เอกรัตน์ได้วนเวียนสัมผัสงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ประเทศอิตาลี จึงเห็นจุดเด่นของการทำงานในแวดวงการออกแบบระดับโลกที่คำนึงถึงการพัฒนาผลงานโดยผ่านการศึกษาวิจัยในกระบวนการผลิตเป็นสำคัญทั้งการทำความเข้าใจกับวัสดุที่หลากหลาย การทำความเข้าใจเทคโนโลยีและเทคนิคทางเชิงช่างต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานออกมามีประสิทธิภาพมีแนวคิดที่ชัดเจนและทันสมัย เอกรัตน์นำเอาทักษะตรงนี้มาบวกรวมเข้ากับไอเดียที่เกิดจากความสนใจในศิลปะไทยของเพื่อนต่างชาติ ทำให้เขาแสวงหาแนวทางของตนเอง สำรวจหาความประทับใจจากรากและวัฒนธรรมของตัวเองมาใช้ด้วยวิธีการชื่นชมคล้ายๆ กับเวลาที่ต่างชาติเห็นสิ่งแปลกใหม่ในประเทศไทย สิ่งที่เอกรัตน์พกกลับมาด้วยจากอิตาลีถูกนำมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาผสมผสานกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่รวมเอาสองวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน คือดึงเอาแนวทางในการสร้างโครงความคิด และการสร้างสรรค์ผลงานอย่างตะวันตกมาใช้ แต่เลือกใช้เนื้อหาเรื่องราวที่แสดงถึงรากเหง้าและความเป็นไทย แสดงออกถึงกระบวนการและภูมิปัญญาความเป็นวัฒนธรรมไทยและเอเชีย โดยใช้วัสดุและเทคโนโลยีท้องถิ่นมาพัฒนาและผลิตผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวเกิดเป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวตนที่แตกต่าง กลายเป็นจุดขายที่น่าสนใจ และทำให้บริษัท คราฟท์ แฟคเตอร์ (Crafactor) ที่เอกรัตน์ร่วมกับเพื่อนดีไซเนอร์ก่อตั้งขึ้นประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้รับการยอมรับจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีเอกรัตน์ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ดูแลการออกแบบผลิตภัณฑ์หัวใจของการผสมผสานและความพยายามสร้างลักษณะเฉพาะให้เกิดขึ้นกับงานดีไซน์ของไทย ผลักดันให้เอกรัตน์ริเริ่มที่จะนำเอกลักษณ์ของงานดีไซน์ไทยไปแสดงบนเวทีระดับโลกอย่างงาน Milan design week งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก โดยตัวเขาทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ดำเนินงานและภัณฑารักษ์คัดเลือกรวบรวมเอางานดีไซน์ร่วมสมัยที่มีความเป็นไทย กว่า 30 ชิ้น จาก 30 บริษัท ไปจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ภายใต้แนวคิด slow hand design เพื่อต้องการสื่อถึงความแตกต่างในงานอุตสาหกรรมการผลิตของไทย สินค้าทุกชิ้นที่นำไปจัดแสดงคัดเลือกโดยเน้นการสร้างงานดีไซน์โดยนำงานช่างฝีมือที่คนไทยถนัด มาผสมกับการใช้เครื่องจักร หรืออาจจะเรียกว่าการทำแบบหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งอาจใช้เวลานานมากในแง่การผลิต แต่ก็มีคุณภาพทั้งในแง่การออกแบบและคุณค่าทางวัฒนธรรมในฐานะนักออกแบบ เอกรัตน์ ได้ยกระดับแนวทางการออกแบบในประเทศไทยให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับต่างชาติ ในแง่การดึงเอาจุดเด่นทางวัฒนธรรมไทยมาใส่ในผลงาน แสดงอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้หลอมรวมอยู่ในผลงานได้อย่างชัดเจนและไม่ขัดเขิน ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จากการทำงานที่มีหลักการผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นระบบส่งผลให้งานออกแบบของเอกรัตน์ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น DEMark Award 2009 และSingapore Furniture Design Award 2008 จาก “Bouncy Tangy” chair,DEMark Award 2008 จาก “Sputnik” chair, TIFF Award 2007 (Outstanding Dining Room Furniture) จาก “Gatsby” chair รวมทั้งผลงานการออกแบบ เก้าอี้สนาม “Nirvana d’Oro” chair ที่มีแรงบันดาลใจมาจากพุทธศิลป์ที่ผสมผสานเทคนิคในการหล่อจากสำริดแบบโบราณของช่างหล่อพระพุทธรูปที่ได้รางวัล Wallpaper Magazine First Class Award 2006 (Best furniturecategory), TIFF Award 2006 (Outstanding Living Room Furniture) และBest of the best designer of the year 2007 ซึ่งเป็นผลงานรางวัลที่ถูกนำเสนอเมื่อครั้งเอกรัตน์ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ประจำปี พ.ศ. 2552 รางวัลอันทรงเกียรติที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มอบให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานซึ่งแสดงออกถึงความคิดริเริ่ม พร้อมทั้งสร้างความก้าวหน้าและคุณประโยชน์ให้แก่สังคม

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031