บรูซ แกสตัน

บรูซ แกสตัน

บรูซ แกสตัน

รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี

ประวัติศิลปิน

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะพบชาวต่างชาติบางคนที่หลงใหลในวัฒนธรรมไทย กระทั่งตกลงปลงใจเดินทางมาใช้ชีวิตในประเทศไทย แต่ความพิเศษของนักดนตรีรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 อย่าง บรูซ แกสตัน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ ยิ่งทำให้น่าสนใจว่าบนเส้นทางดนตรีไทยที่ใกล้จะถูกหลงลืม ต้องมีความพิเศษมากพอที่จะทำให้นักดนตรีเปี่ยมความสามารถจากตะวันตกผู้นี้หลงใหล และทุ่มเทให้ทั้งชีวิต

บรูซ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่รักในเสียงดนตรี ได้รับการบ่มเพาะให้เล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เมื่อเติบโตจึงมีความถนัดในเครื่องเปียโน, ออร์แกน และวิชาขับร้องประสานเสียง เมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย บรูซ เลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัดคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา จบปริญญาโทในปี 1969 ด้วยอายุเพียง 20 ต้นๆ ซึ่งตรงกับยุคสมัยของสงครามเวียดนามท่ามกลางความขัดแย้งทั้งต่อต้าน และเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันเข้าสู่สงคราม บรูซ เลือกที่จะย้ายตัวเองมาเป็นครูสอนดนตรีในประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือผู้คนในแนวทางที่เขาถนัดและไม่ต้องทำร้ายใคร

ในปี พ.ศ. 2514 บรูซ เป็นครูสอนดนตรีที่จังหวัดพิษณุโลก ทุ่มเทแรงกายให้กับเด็กๆ วัยประถมในโรงเรียนผดุงราษฎร์ ในยุคสมัยนั้นแม้จะเป็นโรงเรียนในความดูแลของคริสตจักรแต่ก็นับว่ายังลำบากอยู่มากในยุคแรกเริ่ม เด็กๆ วงโยธวาทิตของบรูซเรียกได้ว่าไม่มีรองเท้าใส่สำหรับการเดินพาเหรด แม้จะเหนือกว่าด้วยฝีมือแต่ก็ไม่อาจชนะรางวัลใดๆ แต่ความภูมิใจก็คือทำให้เด็กๆ ได้มีวิชาดนตรีติดตัวจากครูฝรั่งผู้ทุ่มเทให้ตลอดระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นบรูซ ย้ายไปสอนดนตรีให้กับวิทยาลัยพายัพ ในจังหวัดเชียงใหม่และได้เปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรี และกลายเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรกโดยปริยาย

เป็นโชคชะตาที่น่าประหลาดเมื่อหอพักครูวิทยาลัยพายัพอยู่ติดกับป่าช้าบรูซ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของการได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ที่ได้ยินทุกวันจากงานเผาศพในป่าช้าใกล้เคียง จนกลายเป็นความสนใจและพบในภายหลังว่านักดนตรีนั้นเป็นเพียงเด็กอายุ 10 ขวบ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้บรูซเริ่มทดลองเรียนดนตรีไทยกับชาวบ้านในละแวกและ เริ่มสนใจพุทธศาสนา แม้จะต้องกลับบ้านที่อเมริกาหลังจากสอนดนตรีอยู่สองปีก็พบว่าเสียงดนตรีไทยได้เรียกร้องให้เขาต้องกลับมาดำเนินชีวิตต่อที่ประเทศไทย

ชีวิตหลังจากนั้น บรูซเริ่มดำดิ่งสู่เสียงดนตรีล้านนา และดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กระทั่งกรมศิลปากรเปิดวิทยาลัยนาฏศิลปวิทยาเขตเชียงใหม่ทำให้บรูซได้หัดระนาดเอกกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ และหัดปี่พาทย์รอบวงจากครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และช่วงเวลาสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเกิดการทดลองประยุกต์ดนตรีไทยเข้ากับดนตรีสากลด้วยความสามารถดั้งเดิมในการประพันธ์เพลง บรูซเริ่มทำอุปรากรเรื่อง “ชูชก” ด้วยการพัฒนาขึ้นมาจากวรรณคดีชาดกทศชาติ ตอนพระเวสสันดร โดยใช้วิธีขับร้องประสานเสียงร่วมกับวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกกินจนท้องแตก

ต่อมาชีวิตของบรูซก้าวเข้าสู่วงการดนตรีไทยอย่างเต็มตัวเมื่อพบกับ “ครูบุญยงค์ เกตุคง” นักระนาดชั้นเยี่ยมผู้แต่งเพลง “ชเวดากอง” ทำให้บรูซ เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ในวงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานสองวัฒนธรรมดนตรี ระหว่างดนตรีแบบตะวันตกที่ใช้ระบบตัวโน๊ตในการถ่ายทอด กับการเรียนดนตรีแบบไทยที่ต้องมีครูต่อเพลงแบบตัวต่อตัว เป็นการเรียนรู้แบบประสมประสาน ประยุกต์ให้ดนตรีไทยวิวัฒนาการตัวเองในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์และความสง่างามในท่วงทำนอง

การทุ่มเทฝึกฝนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ ไม่ว่าจะเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรมเพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยว โดยเฉพาะปี่พาทย์และระนาดเอก ครูบุญยงค์ ได้ฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีไทยให้กับศิษย์ต่างชาติอย่างเต็มที่ ประกอบกับการศึกษาองค์ความรู้จากบรมครูทางดนตรีในประวัติศาสตร์ที่เป็นแม่แบบความรู้ในเชิงทฤษฎีดนตรีไทย คือ ครูมนตรี ตราโมท ในขณะที่บรูซก็ยังไม่ทิ้งองค์ความรู้จากครูดนตรีสมัยใหม่ของอเมริกาอย่าง ชาร์ล ไอวฟ์ (Charles Ives) ผู้นำเสียงรอบๆ ตัวผสมผสานกับบทประพันธ์ดนตรี และ จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าผู้ทรงอิทธิพลกับการประพันธ์เพลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การผสมผสาน กลายเป็น “ดนตรีไทยร่วมสมัย” ในเวลาต่อมา

บรูซกับครูบุญยงค์ ร่วมกันก่อตั้ง “วงฟองน้ำ” ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2524 มีสมาชิกร่วมก่อตั้งคือ จิรพรรณ อังศวานนท์ ซึ่งต่อมาได้มีนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากล ที่มีพื้นฐานทางดนตรีหลากหลายแขนงมารวมกันอยู่จำนวนมากวงฟองน้ำได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการดนตรีไทย ด้วยการประยุกต์เรียบเรียงใหม่ให้ดนตรีไทยสามารถขึ้นแสดงงานดนตรี นำ ไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ประกอบละคร วางโครงสร้างทางดนตรีไทยให้สามารถสร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินระดับโลกได้ เกิดดนตรีสำเนียงใหม่ที่เริ่มคุ้นหูคนไทยและได้รับการยอมรับในวงกว้าง

ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างของเพลงไทยที่ไม่ตายตัว มีการด้นสด (improvisation) ในแบบที่ดนตรีสากลปัจจุบันมี ทำให้นักดนตรีไทยสามารถพลิกแพลงให้บทเพลงเข้ากับบุคลิกลักษณะของผู้บรรเลงได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตามสำหรับ บรูซ ความเข้าใจในโครงสร้างเพลงยังเป็นขนบที่เคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทยหรือดนตรีสากล การประยุกต์จึงจำเป็นที่ต้องมีรูปแบบ เป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญดนตรีไทยเกิดจากการประพันธ์ด้วยความคิดที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน จากความเข้าใจระดับปรัชญาจึงไม่แปลกนักหากบรูซจะกลายเป็นนักประพันธ์เพลงไทยอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

ปัจจุบันผ่านมาสี่สิบกว่าปีที่บรูซ คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงดนตรี เขาสมรสกับผศ.สารภี แกสตัน อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรชายคือ ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน (เท็ดดี้) มือกีตาร์วงฟลัวร์ และมีลูกศิษย์ที่สำคัญอย่าง ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, จิระเดช เสตะพันธุ, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, วาณิช โปตะวณิช, ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ฯลฯ และเคยฝากผลงานมากมายไว้ในช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีการละครในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานเพลงประกอบละครสำคัญๆ ไว้หลายชิ้นด้วยกัน เช่น พรายน้ำ คนดีที่เสฉวน อีดีปุสจอมราชันย์ แม่ค้า สงคราม ฯลฯ ก่อนที่จะลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอิสระร่วมพัฒนางานดนตรีสร้างสรรค์กับวงฟองน้ำ

บรูซเคยฝากผลงานการประพันธ์ที่สำคัญอย่างเพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” ในปี พ.ศ. 2525 ในงานฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี นำเสนอมิติของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีไฟฟ้า ที่จัดวางเสียง จังหวะ ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน ประพันธ์เพลง “อาหนู” สำหรับ Prepared Piano ระนาดทุ้ม และดนตรีไฟฟ้า แสดงในงานรำลึกจอห์น เคจ ณ เมืองนิวยอร์คในปี พ.ศ. 2525 รวมถึงการนำวงดนตรีฟองน้ำเข้าร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของครูดนตรีอาวุโสของไทยไปร่วมกันนำเสนอบทบาทหน้าที่ของดนตรีไทยในระบบบอุปถัมภ์ของราชสำนักซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาดนตรีไทยในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา รวมถึงการประพันธ์เพลง “Thailand the golden Paradise” ในปี พ.ศ. 2530 เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย และถือเป็นเพลงหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทั่วโลกนับแต่นั้นมา

นอกจากนี้ยังมีผลงานสร้างสรรค์สำคัญๆ อีกจำนวนมากที่พิสูจน์ให้เห็นว่า บรูซ แกสตัน คือนักดนตรีต่างชาติหัวใจไทยผู้มีความสามารถชั้นสูงในการผสานคุณค่าของดนตรีไทยและองค์ความรู้แบบดนตรีตะวันตก เป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญของการอนุรักษ์ด้วยการทำให้เติบโต พัฒนา ที่สำคัญคือการทำให้ประจักษ์ว่าความเป็นไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย โดยที่ยังสามารถรักษารากเหง้าของตัวเองไว้ได้อย่างครบถ้วน ให้ท่วงทำนองของไทยบรรเลงอยู่บนเวทีระดับโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031