ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ณรงค์

ปรางค์เจริญ

ณรงค์ ปรางค์เจริญ

รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี

ประวัติศิลปิน

อาชีพนักประพันธ์เพลงคลาสสิกอาจยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยทั่วไปด้วยรูปแบบของดนตรีที่มีแบบแผนและกฎเกณฑ์อย่างมาก ทั้งยังไม่มีเนื้อร้องที่สื่อสารกับผู้ฟัง ภาพลักษณ์การดนตรีคลาสสิกจึงเป็นของสูง และเข้าถึงยากในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในศาสตร์ของการประพันธ์เพลง ยิ่งเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความสนใจของผู้คนในสังคม อย่างไรก็ดีแม้ดนตรีคลาสสิกจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก แต่วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยกลับไม่เคยร้างผู้มีความสามารถอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเลย ชื่อของ ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทยอาจยังไม่คุ้นชินสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีคลาสสิกแล้ว ณรงค์ได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะนักประพันธ์เพลงคลาสสิกมืออาชีพคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลสำคัญต่างๆ ในระดับนานาชาติ วงออร์เคสตร้าที่มีชื่อเสียงหลายวงได้นำบทเพลงที่เขาประพันธ์ ขึ้นจัดแสดงคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

ณรงค์เริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมจึงเข้าร่วมกับวงโยธวาทิต หลังจากจบการศึกษาจึงเรียนต่อทางด้านดนตรีศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มสนใจด้านการประพันธ์เพลงเนื่องจากการเป็นนักเปียโนต้องซ้อมเยอะมากเพียงลำพัง ทำให้รู้สึกเบื่อและอยากทำกิจกรรมอย่างอื่น อาจารย์ Kit Young จึงชี้ให้เรียนด้านการประพันธ์เพลง จากอาจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร หลังจากนั้นได้รับทุนให้เรียนต่อปริญญาโทที่ Illinois State University ปริญญาเอกที่ University of Missouri at Kansas City ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่น ทำให้เลือกที่จะเป็นนักประพันธ์เพลงอาชีพ

สิ่งพิเศษในผลงานการประพันธ์เพลงของณรงค์ คือ ความลงตัวในการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์กับวัฒนธรรมตะวันตก เนื่องจากแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากประสบการณ์ในฐานะคนกลางที่อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรม ดนตรีของณรงค์จึงต่างจากบทเพลงของนักประพันธ์ชาวตะวันตกและไม่เหมือนเพลงทางซีกโลกตะวันออกเสียทีเดียว บทเพลงของเขาจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ตรงกลางระหว่างโลกทั้งสองด้าน ในการสื่อสารและเชื่อมโยงความต่างของเชื้อชาติให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ แรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ที่มีต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และพลังของ จิตวิญญาณตะวันออก เช่น พายุนาร์กิส สึนามิ หรือวัตถุดิบจากเพลงพื้นบ้านอย่างเสียงเอื้อนในเพลงพม่า กลองปู่จา เสียงระฆังจากวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร มาปรับใช้ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ของภาษาดนตรีคลาสสิก สุนทรียภาพ จากบทเพลงของณรงค์เปิดมิติใหม่ในการฟังดนตรีคลาสสิก ด้วยทำนองที่มีทั้งความหนักเบา และสีสันของบทเพลงที่มีจังหวะปลุกเร้า สร้างจินตนาการณ์อันไม่สิ้นสุดให้กับผู้ฟัง ความพิเศษทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลให้ณรงค์ได้รับรางวัลในการประกวดบทเพลงคลาสสิกตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับใหญ่

ผลงานการประพันธ์ ชื่อ Phenomenon บทเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค สร้างก้าวแรกแห่งความสำเร็จ โดยได้รับรางวัลสำคัญในเวทีระดับโลก คือ รางวัล Toru Takemitsu Award ในปี 2004 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักประพันธ์ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี หลังจากนั้นจึงได้รางวัลในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง อาทิ รางวัล Alexander Zemlinsky International Composition Competition Prize, รางวัล ACL Yoshiro Irino Memorial Composition Award, รางวัล Pacific Symphony’s American Composer Competition Prize, รางวัล Toru Takemitsu Composition Award และรางวัลชมเชยของ Music Teacher National Association Distinguished Composer of the Year ที่สหรัฐอเมริกา และรางวัลชนะเลิศจาก The Annapolis Charter 300 International Composers Competition Prize จากผลงานเพลงชื่อ “ไตรศตวรรษ” เป็นรางวัลใหญ่ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเมืองแอนนาโพลิส ในโอกาสครบรอบ 300 ปี โดยการประกวดนี้จะจัดขึ้นทุกๆ 100 ปี ผู้ได้รางวัลนี้จะได้รับเกียรติให้เป็นนักประพันธ์เพลงประจำปี 2008 บทเพลงของเขาจะถูกบันทึกคู่กับเพลงคลาสสิกของนักประพันธ์เพลงระดับโลกที่เคยได้รับรางวัลก่อนหน้า อย่าง Arcangelo Corelli ปี 1708 Ludwig van Beethoven ปี 1808 และ Joseph-Maurice Ravel ปี 1908 ความสำเร็จมากมายของณรงค์ได้รับการยอมรับและกล่าวขานใน Los Angeles Times ว่าเป็น “นักประพันธ์ เพลงที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสีสัน สำหรับวงออร์เคสตร้า” และบทเพลงของเขายังได้รับการกล่าวขานจากหนังสือพิมพ์ Chicago Sun Times ว่า “มีเสน่ห์อย่างสมบูรณ์ยิ่ง”

ความมีเสน่ห์อันสมบูรณ์ในบทเพลงของณรงค์ ได้รับการยอมรับจนเป็นที่ประจักษ์ ด้วยถูกนำไปบรรเลงทั้งในทวีปเอเชีย, ออสเตรเลีย, อเมริกา และยุโรปโดยวงออร์เคสตร้าที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น Tokyo Philharmonic Orchestra, Pacific Symphony, The Grant Park Orchestra, Bohuslav Martinu Philharmonic, Melbourne Symphony, Thailand Philharmonic Orchestra, Bangkok Symphony Orchestra, Shanghai Philharmonic, the Annapolis Symphony Orchestra, the German National Theater Symphony Orchestra, Nagoya Philharmonic โดยวาทยกรชั้นนำ อาทิเช่นCarl St. Clair, Carlos Kalmer, บัณฑิต อึ้งรังษี, Jose-Luis Novo และMikhail Pletnev นอกจากวงออร์เคสตร้าแล้ว ยังมีวงแชมเบอร์อีกมากมายที่ได้นำบทเพลงของณรงค์ไปแสดง อาทิเช่น วง TIMF Ensemble, New York New Music Ensemble และ Imani Winds รวมถึงนักเปียโน Bennett Lerner และนักแซ็กโซโฟน John Sampen บทเพลงของณรงค์ได้ถูกนำไปออกอากาศโดยสถานีวิทยุ ABC Classic เครือข่ายดนตรีคลาสสิกของประเทศออสเตรเลีย

บนเส้นทางการเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกอาชีพคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ทำงานในซีกโลกตะวันตก ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงนักประพันธ์เพลงคลาสสิกของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล จึงได้สละเวลาส่วนหนึ่งจากการทำงานที่เขารักเพื่อผลักดันให้เกิดงาน Thailand International Composition Festival ขึ้น โดยเริ่มต้นจากทุนส่วนตัวแล้วขยับไปขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างเวทีเชื่อมโยงระหว่างนักประพันธ์เพลงชาวไทยและผู้คนในวงการดนตรีคลาสสิกชาวต่างชาติ ด้วยความหวังที่จะเปิดโอกาสให้นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทยได้ออกไปแสดงศักยภาพสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031