ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ปฐมา

หรุ่นรักวิทย์

Patama Roonrakwit

รางวัลศิลปาธร : สาขาสถาปัตยกรรม

ประวัติศิลปิน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกที่ทำงานกับชุมชนคนยากจน ผู้ก่อตั้ง Community Architects for Shelter and Environment หรือ CASE กลุ่มสถาปนิกที่ทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้คนเหล่านั้นมีความสามารถในการแก้ปัญหาให้กับชุมชนของตนเองได้ดีที่สุดหลังจากที่ปฐมาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอได้เดินทางไป

ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Development Practices ที่ Oxford Brookes University สหราชอาณาจักร และระหว่างนั้นเธอได้กลับมาเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย จึงมีโอกาสลงพื้นที่ทำงาน

ปรับผังชุมชนแออัดในจังหวัดสงขลาเป็นครั้งแรกโดยมีคุณสมสุข บุญญะบัญชา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย ในประเทศไทย [Asian Coalition for Housing Rights หรือ ACHR]) คอยให้คำแนะนำ นับแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อที่คนในชุมชนต่างๆ เรียกปฐมาไม่ว่าจะเป็น ช่าง วิศวกร หรือครู ทำให้เธอตั้งกลุ่มสถาปนิก CASE ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ซึ่งเธอมีโอกาสเข้าไปทำงานด้วยนั้น เข้าใจและเรียกใช้ชื่อกลุ่มเดียวกันกลุ่ม CASE ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยเน้นการทำงานกับชุมชนแออัดและคนยากจน ภายใต้เงื่อนไขเรื่องงบประมาณเริ่มต้นที่ศูนย์บาทการทำงานภายใต้ข้อจำกัดนี้ทำให้เกิดการสื่อสารการเรียนรู้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของพื้นที่และกลุ่มคนในชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหา และนำวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความรู้สึกรักและหวงแหนชุมชนของตนเองแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ที่ปฐมาและกลุ่ม CASE ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น เช่น ชุมชนบ้านบ่อว้าจ.สงขลา (พ.ศ. 2539) ชุมชนสันติธรรมจ.เชียงใหม่ (พ.ศ. 2540) ชุมชนคลองแสนสุขจ.สมุทรปราการ (พ.ศ. 2541)ชุมชนใต้สะพาน(พ.ศ. 2542) ชุมชนตลาดบางเขน(พ.ศ. 2543) โครงการตลาดมีชีวิตพิพิธภัณฑ์มีชีวิตตลาดสามชุกจ.สุพรรณบุรี (พ.ศ. 2545) ชุมชนเก้าเส้งจ.สงขลา (พ.ศ. 2546) และ โครงการบ้านมั่นคงจ.ปัตตานี (พ.ศ. 2548)เป็นต้น เมื่อปฐมามีโอกาสทำงานกับชุมชนที่ความซับซ้อนและหลากหลายทำให้เกิดการคิดเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนยากจนและชนชั้นกลางในเมืองว่ามีคุณภาพชีวิตไม่ต่างกัน เพราะแม้คนชนชั้นกลางจะมีรายได้สูงกว่า แต่อย่างไรเสียพวกเขาก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในปีถัดมาพ.ศ. 2549 ปฐมาจึงคิดโครงการ TEN ที่อยู่อาศัยสำหรับคนชนชั้นกลาง 9 ครอบครัวที่สร้างขึ้นในผืนดินเดียวกันแต่แยกกันพักอาศัยเป็นสัดส่วนชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีสวนตรงกลางและดาดฟ้าที่สามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันได้ซึ่งโครงการนี้อาจกลายเป็นต้นแบบที่พักอาศัยให้กับคนทั่วไปได้ในอนาคต

จากประสบการณ์การทำงานในชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือศาสนา ทำให้ปฐมาได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีผลงานเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามรางวัล Japan Housing Association และรางวัลดีเด่น จากสมาคมมัณฑนากร

แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งรวมถึงรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำปีพ.ศ. 2553 ด้วย หลังจากที่ปฐมาได้ทำงานกับชุมชนต่างๆ มากมาย ปัจจุบันเธอให้ความสนใจกับชุมชนมีนบุรี สถานที่ที่เธอเติบโตมา เพราะการที่ได้เข้าไปทำงานกับชุมชนละแวกบ้านของตนเอง ทำให้เกิดเครือข่ายและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในชุมชน เพราะหากเป็นคนในพื้นที่ย่อมรู้ประวัติชุมชนตัวเองเป็นอย่างดีและสามารถติดตามดูงานได้ในระยะยาวสำหรับโครงการต่างๆ ในชุมชนมีนบุรีที่ปฐมาได้เริ่มต้นไว้นั้น เป็นการทำงานระหว่างกลุ่มสถาปนิก CASE และนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันต่างๆ ที่ปฐมารับเข้ามาฝึกประสบการณ์การเรียนรู้และใช้เป็นแนวหน้าเดินสอบถามความต้องการของชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านจะกล้าแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้มากกว่าการที่ปฐมาเดินเข้าชุมชนด้วยตัวเอง โดยงานแรกคือ โครงการสนามเด็กเล่นเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ที่กลุ่ม CASE และนักศึกษาลงพื้นที่โดยเข้าหาและสอบถามความต้องการของเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ด้วยกิจกรรมวาดรูป ระบายสี และสร้างโมเดล 3 มิติโดยการปั้นดินน้ำมันให้ออกมาเป็นสนาม

เด็กเล่นตามที่เด็กๆ ต้องการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 กลุ่ม CASE และนักศึกษาได้เข้าปรับปรุงพื้นที่ต่อจากสนามเด็กเล่นและสร้าง สระว่ายน้ำเพิ่มเติม หลังจากนั้นจึงเป็นการสร้าง ห้องสมุดชุมชนซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษาสถาปัตยกรรม ประเทศนอร์เวย์ TYIN tegnestue Architects มาร่วมลง

ความคิดและแรงกายกับกลุ่มชาวบ้านด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างและปรับปรุงพื้นที่เป็น อาคารเก็บของ” “ศาลาผู้ใหญ่และ ครัวชุมชนเป็นต้น ซึ่งสำหรับปี พ.ศ. 2557 นี้ กลุ่ม CASE และนักศึกษาได้ร่วมกันสร้าง สวนรวมรักษ์สวนชุมชนที่ได้รับการพัฒนาจัดระบบผังใหม่และสร้างเล้าไก่เพิ่มเติม อาคารเสาพื้นที่นั่งเล่นและลานกิจกรรม ตลอดจน พิพิธภัณฑ์ตลาดเก่ามีนบุรีตลาดเก่าที่มีประวัติยืนยาวกว่า 100 ปี เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวของคนในชุมชน ซึ่งทุกส่วนที่กล่าวมานี้เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริงนอกจากการทำงานกับชุมชนมีนบุรีและชุมชนอื่นๆ แล้ว กลุ่มสถาปนิกCASE ยังรับงานออกแบบทั่วไปซึ่งรายได้จากงานในส่วนนี้ปฐมาได้นำไปเป็นทุนในการพัฒนาชุมชนมีนบุรีเพิ่มเติม ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปี ที่ปฐมาหรุ่นรักวิทย์ ทำงานกับชุมชนคนยากจนได้แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะช่วยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่แล้ว ยังมีส่วนสร้างความร่วมมือให้แก่คนในชุมชนช่วยสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนทัศนคติให้คนในชุมชนหันมารักษา หวงแหน ชุมชนของตนอย่างยั่งยืน

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031