ประชา สุวีรานนท์

ประชา สุวีรานนท์

Pracha Suveeranont

รางวัลศิลปาธร : สาขาเรขศิลป์

ประวัติศิลปิน

เมื่อกล่าวถึง “สื่อ” เพื่อการสื่อสารในปัจจุบันแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นชินเพราะสื่อได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราสามารถพบเห็นได้ง่ายตั้งแต่ภายในที่พักอาศัย ตลอดสองข้างทาง รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งในเวลานี้นับว่าได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เราคงไม่สามารถปฏิเสธความไกลและใกล้ตัวเราออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ สื่อถูกถ่ายทอดผ่านกรรมวิธีตั้งแต่การขีดเขียนการพิมพ์ รวมถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยทางคอมพิวเตอร์ จนออกมาเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งวิธีการคิด การสร้าง และนำเสนอ ซึ่งสื่อเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้ผ่านการกลั่นกรอง และครุ่นคิดจากนักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังมาแล้วทั้งสิ้น

“ประชา สุวีรานนท์” นักออกแบบเรขศิลป์ หรือ กราฟิกดีไซเนอร์ จากบริษัท MATCHBOX จำกัด ซึ่งหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะบุคคลที่ทำงานอยู่ในแวดวงออกแบบเพื่อการสื่อสาร โฆษณา และสร้างเอกลักษณ์องค์กร(Corporate Identity) ประชายังเป็นหัวจักรสำคัญซึ่งช่วยยกระดับงานด้านนี้จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ในส่วนผลงานอิสระของเขาคือ การออกแบบโปสเตอร์ ปกหนังสือ และนิตยสารให้กับสื่อต่างๆ ซึ่งผลงานทั้งหมดแฝงไว้ด้วยความคมคายและมีนัยชวนให้คิดในฐานะนักเขียนประชาเริ่มต้น ด้วยการทำหนังสือรุ่น สมานมิตรประจำปี พ.ศ. 2517 ร่วมกับเพื่อนนักเรียนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เนื้อหาของหนังสือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาอย่างรุนแรง หน้าปกเป็นรูปกำปั้นชูขึ้นขึงตึงด้วยโซ่ที่ล่ามไว้กับข้อมือพร้อมกับตัวหนังสือ “ศึก” อยู่ด้านล่าง ซึ่งการเติบโตในบรรยากาศปัญญาชนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2516 เป็นสิ่งที่หลอมให้เขาสนใจในปัญหาของสังคมและนำไปสู่ความเข้าใจในโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ประชาจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศึกษาทางด้านศิลปะการออกแบบที่Parsons School of Design นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับมาเมืองไทย ประชาได้เริ่มทำการ์ตูนชุด แบบเรียนเร็วภาคพิสดารซึ่งเขานำมาสร้างขึ้นใหม่ในนามของ เรณูปัญญาดีสำหรับการ์ตูนชุด แบบเรียน (กึ่ง) สำเร็จรูป(ปี พ.ศ. 2546) เป็นการ์ตูนขนาดสั้นจบในตอนโดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนโลกทรรศน์ของครอบครัวชนชั้นกลางผ่านตัวละครอย่าง พ่อ แม่ ระกา-ราณี (ลูกชายและลูกสาว) หางดาบ สุนัขที่หมกมุ่นกับโลกไซเบอร์สเปซในส่วนผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีคงเป็นการทำงานวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่ทำให้ประชาได้รับรางวัลบทวิจารณ์ดีเด่นจากกองทุน ม.ล.บุญเหลือเทพยสุวรรณ ในปี พ.ศ. 2537 และมีการรวบรวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์แล่เนื้อเถือหนังเล่ม 1 และเล่ม 2 ที่เปิดมุมมองใหม่ด้วยการจับประเด็นอันคมคาย ส่วนการเขียนวิจารณ์งานออกแบบประจำ คอลัมน์ ดีไซน์ + คัลเจอร์(Design + Culture) ของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ประชาได้รวบรวมประเด็นด้านการออกแบบเข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ทำให้เขา

มองเห็นถึงความเคลื่อนไหวอันหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างรอบด้านผ่านมุมมองและการตีความจาก “ทฤษฎีสัญศาสตร์โครงสร้าง” ซึ่งผลงานของเขาได้ถูกรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือขึ้น คือ ดีไซน์ + คัลเจอร์และดีไซน์ + คัลเจอร์ 2ประชา ยังเป็นนักวิชาการ ที่ได้ริเริ่มสร้างองค์ความรู้ด้านเรขศิลป์ของไทย อย่างเป็นระบบ จากการจัด “10 ตัวพิมพ์กับสังคมไทยนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะการออกแบบตัวพิมพ์ไทย ซึ่งได้นำมาแสดงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดถึง 4 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2546 ซึ่งประชาได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาและพัฒนาการของตัวพิมพ์ไทย เขามีบทบาทสำคัญ

ในการเรียบเรียงเนื้อหา ที่ปรากฏเป็นหนังสือ แกะรอยตัวพิมพ์ไทยและยังเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชนในการประชุมเชิงวิชาการด้านการออกแบบ ที่เล่นกับ ความเป็นไทยๆเป็นหัวข้อที่ประชาติดตามศึกษามานานและนำเสนอมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในงาน“สถาปนิก 53” ของสมาคมสถาปนิกสยาม ประชาเองยังมีส่วนร่วมในการออกแบบสัญลักษณ์ของมิวเซียมสยาม หรือสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดขององค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง

ไม่ว่าเราจะรู้จักกับ ประชา สุวีรานนท์ ในฐานะใด แต่ในด้านการทำงานส่วนตัวเขายังเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ที่ทำงานในเชิงพาณิชย์อยู่ เขาเห็นว่างานโฆษณาที่เคยเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นสังคม เป็นที่มาของการถกเถียงและวาทกรรมมากมายตอนนี้กลับมีอิทธิพลลดลง จึงมีผลให้งานส่วนใหญ่ของเขาเป็นการออกแบบโดย

ใช้ภาพและตัวอักษรเพื่อการสื่อความหมายให้ชัดเจนตามจุดประสงค์ หรือนำสารของลูกค้ามาปรุงแต่ง พัฒนา ดัดแปลงให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ น่าติดตาม เขาเชื่อว่าสไตล์การออกแบบมาจากความเข้าใจในโจทย์ รวมทั้งการตีโจทย์ให้ชัดขึ้นงานของเขาจึงเป็นสิ่งพิมพ์เชิงปัญญา ตั้งแต่สมัย สำนักพิมพ์เม็ดทราย และวารสาร แลใต้มาจนถึงงานออกแบบปกหนังสือในระยะหลังซึ่งโดดเด่นสะดุดตาและมีนัยที่ซ่อนอยู่ เช่น หนังสือรวมบทวิจารณ์วรรณกรรม อ่าน (ไม่) เอาเรื่องของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เขาได้ออกแบบปกเป็นพื้นที่ว่างแสดงแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม ที่สามารถรื้อและสร้างอยู่ในการออกแบบ เขาแบ่งพื้นที่ว่างบนปกด้วยรอยปรุเป็นช่อง จัดวางตัวอักษรเรียงในแต่ละช่องตามลำดับโดยไม่คำนึงถึงการอ่านให้ได้ใจความ เพื่อต้องการให้ผู้อ่านนั้นมีส่วนร่วมให้การฉีกรื้อ แล้วเรียงหรือสร้างประโยคขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้เขายังมีผลงานออกแบบปกหนังสือที่เสนอความคิดในเชิงสังคม และการเมืองอย่างจริงจัง เช่น หนังสือในเครือ ฟ้าเดียวกัน และอีกหนึ่งในความภูมิใจของประชาคือ การที่เขาได้รับรางวัล “ศิลปาธร” สาขาเรขศิลป์ ปี พ.ศ. 2553 หากถามถึงความรู้สึกของประชานี่เป็นรางวัลที่เขารู้สึกภูมิใจ ที่มีคนรู้จักผลงานของเขาและเป็นที่ยอมรับ แต่ว่าในแง่วิชาชีพ การได้รับการยอมรับจริงๆ ต้องถือว่าเป็นเพียงก้าวเล็กๆ เพราะในยุคนี้เป็นยุค Good Design is Good Responsibility (ดีไซน์ที่ดี คือดีไซน์ที่รับผิดชอบต่อสังคม) ซึ่งยังไม่รู้ว่ากระแสนี้จะอยู่นานแค่ไหน ตอนนี้ทุกวิชาชีพเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “เราจะรับใช้แต่ธุรกิจและตัวเองไม่ได้ เราต้องรับใช้สังคมด้วย” ซึ่งผลงานของประชาก็เป็นส่วนหนึ่งในกระแสนั้น

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031