ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

Saksiri Meesomsueb

รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์

ประวัติศิลปิน

กวีนิพนธ์เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าและทรงพลังผ่านความสามารถเชิงวรรณศิลป์ที่ละเอียดอ่อนงดงาม พลังของตัวอักษรจากปลายปากกาของผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นถึงความรู้เชิงปรัชญาและจิตวิญญาณ ทั้งยังเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์และภาพสะท้อนของความคิดในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะยุคสมัย ใดกวีนิพนธ์ไม่เคยขาดหายจากวัฒนธรรมไทยหากเพียงมีรูปแบบการแสดงออกที่หลากหลายขึ้นในปัจจุบัน เดิมการประพันธ์บทกวีมีโครงสร้างและลักษณะของคำประพันธ์ที่ชัดเจน เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอน ในแต่ละประเภทเหล่านี้ อาจบังคับจำนวนคำหรือสัมผัสเสียงและวรรณยุกต์อย่างมีระเบียบแบบแผนเรียกว่า “ฉันทลักษณ์” แต่ในปัจจุบันรูปแบบของกวีนิพนธ์ต่างไปจากเดิม เรียกกันโดยทั่วไปว่า “กวีนิพนธ์ร่วมสมัย” ซึ่งมีรูปแบบของคำประพันธ์ที่ต่างไปจากขนบโบราณจนกระทั่งละทิ้งรูปแบบเดิม หรือมีการสร้างฉันทลักษณ์เฉพาะตนขึ้น

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีร่วมสมัยที่มีบทบาทและผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่องในวงการวรรณศิลป์ ความสนใจในกวีนิพนธ์ของศักดิ์สิริถูกบ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์เนื่องจากชอบอ่านหนังสือ ประกอบกับได้พำนักอยู่กับจิตรกรและกวีที่มีชื่อเสียงอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ผู้เป็นเสมือนแรงผลักดันให้เขียนบทกวีและศึกษาศิลปะ จนกระทั่งจบการศึกษาสาขาจิตรกรรมสากล ของวิทยาลัยเพาะช่าง แม้ในช่วงแรกจะได้รับอิทธิพลการประพันธ์จากจ่างอยู่บ้าง แต่เมื่อฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานประพันธ์ของศักดิ์สิริมีแนวทางที่พิเศษและชัดเจนขึ้น

ลักษณะพิเศษของรูปแบบงานกวีนิพนธ์ของศักดิ์สิริอยู่ที่การสร้างฉันทลักษณ์ที่เราสัมผัสได้ถึงความงามตามขนบเดิม คือไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างฉันทลักษณ์ขึ้นใหม่อย่างสิ้นเชิง แต่การถ่ายทอดรูปแบบของฉันทลักษณ์ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นอิสระมากขึ้นจนเกิดสุนทรียภาพเฉพาะตัว ด้วยการร้อยเรียงคำที่เรียบง่ายสละสลวยซึ่งถูกจัดวางอย่างพิถีพิถัน เสียงและจังหวะของคำสอดประสานเพื่อสื่อความหมายจนก่อเกิดจินตภาพที่ชัดเจนอย่างสร้างสรรค์ แม้รูปแบบของคำประพันธ์อาจไม่ได้มุ่งเน้นถึงการสัมผัสของคำตามแบบขนบเดิม แต่พยัญชนะและสระภายในมีเสียงที่ต่อเนื่องกลมกลืนกัน หรือในบางครั้งมีลักษณะของการผสมกันของฉันทลักษณ์ที่คุ้นชินเข้าด้วยกัน จนเกิดฉันทลักษณ์ใหม่ขึ้น อาจกล่าวได้ว่าบทประพันธ์ของเขามีลักษณะปฏิเสธรูปแบบเดิมของกวีนิพนธ์ เพื่อเปิดการรับรู้รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย แต่ยังคงคุณค่าความงามในเชิงวรรณศิลป์อย่างครบถ้วนทั้งเนื้อหา ความหมาย และวิธีการนำเสนอ

เนื้อหาในผลงานกวีนิพนธ์ของศักดิ์สิริ ย้ำเตือนให้เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกันและความสมดุลของธรรมชาติ ภาษาที่ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่ายเล่าถึงเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นเตือนสำนึกทางศีลธรรมอันดีของผู้คน ผ่านบทสนทนาหรือการกระทำของตัวละครที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้อ่านอาจเคยเผชิญ เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด หรือเคยเป็นผู้กระทำอย่างตัวละครมาแล้ว ศักดิ์สิริสร้างจินตภาพของเหตุการณ์เหล่านั้นในมุมมองที่ย้อนแย้ง กระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงการกระทำของตัวละครถึงความถูกต้องดีงามที่มีอยู่ในสังคม ดังจะเห็นได้จากบทกวีนิพนธ์ ‘ตุ๊กตาในรอยทราย’ ซึ่งเป็นการรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2526 และ ‘คนสอยดาว’ พ.ศ. 2528

ความสามารถทางวรรณศิลป์อันพิเศษของศักดิ์สิริได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเมื่อผลงาน ‘มือนั้นสีขาว’ บทกวีนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2531 ประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2535 เรื่องราวที่วิพากษ์วิจารณ์มายาคติที่บดบังปัญญาจนมองไม่เห็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ แสดงถึงปัญหาทางวัฒนธรรมและศีลธรรมที่เกิดขึ้นของผู้คนในสังคมเมืองด้วยมุมมองที่ใสซื่อบริสุทธิ์ของวัยเยาว์ และพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นระดับของศีลธรรมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ชีวิตชนบทและชีวิตในเมือง ด้วยเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนนหรือในสังคมของคนระดับชาวบ้านธรรมดา ถูกร้อยเรียงผ่านบทกวีที่ใช้คำที่สื่อสารระดับสามัญแต่รุ่มรวยด้วยสัมผัสเสียงที่งดงามสร้างจินตภาพที่แจ่มชัด อีกทั้งยังมีการใช้สัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบที่ลุ่มลึกแยบยล

ความมุ่งมั่นและปณิธานอันแรงกล้าทำให้ศักดิ์สิริยังคงมีผลงานวรรณศิลป์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลงานรวมเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมและการประพันธ์เพลง แม้จะเคยรับราชการครูที่บ้านเกิดจังหวัดนครสวรรค์ แต่ปัจจุบันศักดิ์สิริได้ลาออกจากอาชีพราชการ เนื่องจากเห็นว่าอาชีพอิสระสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งสามสาขาที่เขารักได้อย่างเต็มที อย่างไรก็ดีด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ศักดิ์สิริยังเผยแพร่ความรู้กับคนจำนวนมาก ในฐานะวิทยากรรับเชิญบรรยายเกี่ยวกับการเขียนตามสถาบันต่างๆ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031