สุวรรณ คงขุนเทียน

สุวรรณ

คงขุนเทียน

Suwan Kongkhunthian

รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

ประวัติศิลปิน

สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบชาวไทยที่มีชื่อเสียงจากการสร้างธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวา ภายใต้บริษัทโยธกา (Yothaka) ซึ่งเป็นเวลากว่า 26 ปีแล้ว ที่ธุรกิจนี้ได้ก่อตัวขึ้นและยังคงดำรงอยู่ในฐานะของธุรกิจสัญชาติไทยที่มีเอกลักษณ์และโด่งดังในเวทีนานาชาติ ภายหลังจากที่สุวรรณ จบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2519เพียงไม่กี่เดือน เขาได้เดินทางไปทำงานเป็นล่ามแปลภาษา ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากงานออกแบบในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากนัก หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเกือบ 2 ปี สุวรรณตัดสินใจกลับประเทศไทยมาทำงานเป็นนักออกแบบให้กับบริษัทราชาเฟอร์นิเจอร์ แต่เพียงไม่นาน เขาก็ตัดสินใจเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะของดีไซเนอร์แบบเต็มตัว สุวรรณร่วมกับเพื่อนสิงคโปร์เปิดบริษัทออกแบบด้วยกัน แต่เพียง 3 ปีก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่เขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่พบเจอ ภายหลังจากที่ตั้งตัวได้ สุวรรณและเพื่อนจึงก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับงานออกแบบอีกแห่งที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งหลังจากดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 10 ก็ถึงจุดอิ่มตัว สุวรรณจึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทยซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เพื่อนกำลังทำวิจัยเรื่องผักตบชวาอยู่ เขาจึงร่วมกับเพื่อนพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้จนกลายมาเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในที่สุด เนื่องจากผักตบชวายังไม่เป็นที่รองรับของตลาดในประเทศไทย สุวรรณจึงเน้นไปที่การส่งออกเป็นหลัก ในช่วงแรกของการทำธุรกิจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เขาลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าที่สินค้าจะเป็นที่รู้จัก กระทั่งปีที่ 6 ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สุวรรณจึงนำสินค้าของตัวเองไปเปิดตลาดที่ยุโรป โดยเริ่มชิมลางที่งานแฟร์แห่งหนึ่ง ในเมืองโคโลญจน์ประเทศเยอรมนี ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจของคุณสุวรรณขยายตัวมากขึ้น จุดเด่นของโยธกา คือ การสร้างสรรค์สินค้าหัตถกรรมฝีมือคนไทย โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นผ่านการถักสานด้วยความประณีตบรรจง นอกจากนี้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วยรูปทรงที่เรียบง่ายแต่ผสมผสานความเป็นไทยและโมเดิร์นไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เป็นจุดขายหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ผลิตภัณฑ์ไทยในชื่อ ‘โยธกา’ โด่งดังและเป็นที่รู้จักของตลาดหัตถกรรมโลก สุวรรณเลือกที่จะพัฒนางานออกแบบในทุกๆ 5 ปี ด้วยการเฟ้นหาวัสดุใหม่ๆ มาทำเฟอร์นิเจอร์ โดยเน้นไปที่วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เฟอร์นิเจอร์จากกระดาษใยสับปะรด หญ้าลิเภา เส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้นด้วยมุมมองความคิดที่ยึดโยงกับการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ทำให้สุวรรณได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ปี พ.ศ. 2551 สินค้าของบริษัทโยธกา ถูกนำไปตกแต่งและใช้งานในสถานที่จริง เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้สินค้าหลายชิ้นยังได้รับรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Design For Asia Award Winner 2004 จาก Hong Kong Design Centre รางวัล Prime Export Award Thailand จาก Department of Wxport Promotion รางวัล Designer of The Year จาก ELLE Decoration Magazine รางวัล G Mark Award จาก Japan Industrial Design Promotion Organization, Japan และรางวัลอื่นๆ อีกมากมายปัจจุบันสุวรรณ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท โยธกา อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ทำหน้าที่ดูแลด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ และดูแลส่วนอื่นๆทั้งหมดของบริษัท จากจุดเริ่มต้นของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ที่มีช่างสานอยู่เพียงไม่กี่คนในตึกแถวเล็กๆ ได้เคลื่อนย้ายสำนักงานมาอยู่ในออฟฟิศขนาดกลางย่านลุมพินี โดยมีพนักงานสาขาต่างๆ จำนวน 17 คน ส่วนของโรงงานมีช่างฝีมือและคนงานรวมแล้วประมาณ 90 คน จากระยะเวลาการเดินทางของแบรนด์โยธกาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงการทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่สามารถต่อสู้และผ่านอุปสรรคต่างๆ จุดสำคัญของการดำเนินธุรกิจนี้คือ การพัฒนางานดีไซน์อย่างต่อเนื่องซึ่งช่วยเพิ่มสีสันให้งานออกแบบไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้สุวรรณยังคอยแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจนี้ อย่างเวลาได้รับการตำหนิเรื่องสินค้าจากลูกค้า เขาจะไม่ปฏิเสธความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะตรวจสอบทันทีว่าเสียตรงไหนและสาเหตุคืออะไร การให้ความสำคัญกับงานบริการ ถือเป็นจุดแข็งของโยธกาที่แตกต่างไปจากคนทำธุรกิจบางกลุ่มที่ปฏิเสธความรับผิดชอบจากลูกค้าซึ่งแม้ว่าเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวาจะไม่ได้โด่งดังขนาดติด 5 อันดับสินค้าทำมือของโลก แต่ในเรื่องคุณภาพของสินค้า การเอาใจใส่และการบริการก็ถือว่าไม่เป็นสองรองใครสำหรับงานออกแบบในประเทศไทย สุวรรณแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในอดีตสังคมไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องการพัฒนาสินค้ามากนักการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เขาคิดว่า งานดีไซน์จะเป็นช่องทางหนึ่งให้ประเทศไทยอยู่รอดและเจริญก้าวหน้าต่อไปแต่หากเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ยังถือว่าตามหลังอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ การที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนงานฝีมือของไทย เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการดำเนินงานในด้านนี้ สุวรรณคิดว่าหากมีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง งานออกแบบในประเทศไทยจะมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นอย่างแน่นอนทุกวันนี้คุณสุวรรณมีความสุขในชีวิตการทำงานและสนุกกับการเฟ้นหาวัสดุใหม่ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง สุวรรณทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงาน เขาจะเดินทางไปมาระหว่างออฟฟิศและโรงงาน เพื่อคอยดูแลคนงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ และหากช่วงไหนที่ว่างจากการทำงาน สุวรรณจะเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้านเกิด ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาไอเดียมาสร้างงานออกแบบของตัวเองต่อไป

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031